วันพฤหัสบดีที่ 16 สิงหาคม พ.ศ. 2555



ประเพณีรับบัว
ช่วงเวลา 
          เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 ถึง ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ก่อนออกพรรษา 

ความสำคัญ 
          ประเพณีรับบัวเป็นประเพณีประจำท้องถิ่น ของชาวอำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นประเพณีเก่าแก่ที่สืบทอดมาแต่โบราณ โดยมิได้ปรากฏหลักฐานว่ามีมาแต่ยุคใดสมัยใด 
ประเพณีรับบัวนี้มีข้อสันนิษฐานความเป็นมาได้ 3 ประการ
          ประการแรก 
          ในสมัยก่อนในแถบอำเภอบางพลี มีประชากรอาศัยอยู่ 3 พวกคือ คนไทย รามัญ และลาว แต่ละพวกจะมีหัวหน้าคอยควบคุมดูแลและทำมาหากินในอาชีพต่างๆกัน ซึ่งชาวรามัญในสมัยนั้นจะขุดบ่อเลี้ยงปลาเป็นอาชีพต่อมาทั้งคนไทย รามัญและลาว ทั้ง 3 พวกก็ปรึกษาหารือกันว่าสมควรจะช่วยกันหักล้างถางพงให้กว้างขวางยิ่งขึ้นเพื่อทำไร่ทำสวนต่อไป บริเวณนี้แต่ก่อนเต็มไปด้วยป่าพงอ้อ พงแขมและไม้นานาชนิดขึ้นเต็มไปหมด ฝั่งทางตอนใต้ของลำคลองสำโรงก็เต็มไปด้วยป่าแสม น้ำก็เป็นน้ำเค็ม ซึ่งเต็มไปด้วยอันตรายจากสัตว์ร้ายนานาชนิดทางฝั่งตอนเหนือก็เต็มไปด้วยบึงขนาดใหญ่ ภายในบึงแต่ละบึงก็อุดมสมบูรณ์ไปด้วยบัวหลวงมากมาย พวกคนไทย รามัญและลาว ก็พยายามหักล้างถางพงเรื่อยมาจนถึงทางแยก 3 ทางคือ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือเป็นคลองสลุด ทางเหนือเป็นคลองชวดลากข้าว และทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเป็นคลองลาดกระบัง คนทั้ง 3 พวกก็ตกลงกันว่าควรจะแยกย้ายกันทำมาหากินคนละทางจะดีกว่าเพื่อที่จะได้รู้ภูมิประเทศว่าด้านไหนจะทำมาหากินได้คล่องดีกว่ากัน เมื่อตกลงดังนั้นแล้วจึงแยกทางกันไปทำมาหากิน โดยพวกลาวไปทางคลองสลุด ไทยไปทางคลองชวดลากข้าว พวกรามัญไปทางคลองลาดกระบัง พวกรามัญทำมาหากินอยู่ประมาณ 2-3 ปี ก็ไม่ได้ผลเพราะนก หนู ชุกชุมรบกวนพืชผลต่างๆจนเสียหายมากมาย เมื่อทำมาหากินไม่ได้ผลพวกรามัญก็ปรึกษาเตรียมตัวอพยพกลับถิ่นเดิมที่ปากลัด (พระประแดง) เริ่มอพยพกันในตอนเช้ามืดของเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ก่อนไปก็ได้ไปเก็บดอกบัวในบึงบริเวณนี้มากมาย คนไทยที่คุ้นเคยกับพวกรามัญก็ไต่ถามว่าเก็บดอกบัวไปทำไมมากมายเพียงนี้พวกรามัญก็บอกว่าจะเอาไปบูชาพระคาถาพัน (เทศน์มหาชาติ) ที่ปากลัด และได้สั่งเสียกับคนไทยที่รักและสนิทสนมชิดชอบว่าในปีต่อมาเมื่อถึงเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ ให้ช่วยเก็บดอกบัวรวบรวมไว้ที่วัดหลวงพ่อโตนี้ด้วยพวกตนจะมารับ ด้วยนิสัยคนไทยนั้นชอบโอบอ้อมอารีรักพวกพ้องจึงตอบตกลง จากนั้นพวกชาวรามัญก็นมัสการหลวงพ่อโตพร้อมทั้งขอน้ำมนต์หลวงพ่อโตไปเพื่อเป็นศิริมงคลและลากลับถิ่นฐานเดิมที่ปากลัดและนำดอกบัวไปบูชาพระคาถาพันปีต่อมาพอถึงกำหนดเดือน 11 ขึ้น 14 ค่ำ คนไทยบางพลีก็รวบรวมดอกบัวไว้ที่วัดบางพลีใหญ่ตามคำขอร้องของชาวรามัญ พวกชาวรามัญก็จะมารับดอกบัวทุกปี การมาจะมาในเวลากลางคืน มาโดยเรือขนาดจุ 50-60 คน จะมาถึงวัดประมาณตี 1-4 ของทุกครั้งที่มาและมีการตีฆ้องร้องเพลงตลอดทางอย่างสนุกสนาน พร้อมทั้งมีการละเล่นต่างๆในเรือ ผู้ที่คอยต้อนรับก็พลอยสนุกสนานไปด้วยไมตรีจิตอันดียิ่ง คนไทยได้ทำอาหารคาวหวานต่างๆเลี้ยงรับรองโดยใช้ศาลาวัดเป็นที่เลี้ยงอาหารกันเมื่ออิ่มหนำสำราญแล้วก็นำดอกบัวไปมนัสการหลวงพ่อโต จากนั้นก็นำดอกบัวกลับไปบูชาพระคาถาพันที่ปากลัด
ปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครู และลักษณะครูที่ดี
 
.....
ปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครู และลักษณะครูที่ดี
ปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครู


ในความหมายของปรัชญาจัดว่าเป็นแนวอุดมคติในการดำเนินงานใด ๆ โดยใช้ปัญญา

เพื่อให้บรรลุเป้าหมายตามที่คาดหวังไว้ เมื่อบุคคลได้เกิดความสนใจและใฝ่หาความรู้จากวิชาปรัชญาก็ย่อมได้รับอัตถประโยชน์อย่างมากมาย พอสรุปได้ดังนี้

1. ปรัชญาสอนให้รู้จักความจริงอันสิ้นสุด เช่น พระเจ้ามีจริงหรือไม่
2. ปรัชญาสอนให้รู้จักทฤษฎีแห่งความรู้ เช่น การวิจัยจะนำไปสู่การค้นหาคำตอบได้
3. ปรัชญาสอนให้รู้จักความดีและความถูกต้อง เช่น การทำประโยชน์ให้แก่สังคมถือว่าเป็นความดี
4. ปรัชญาสอนให้รู้จักความงาม เช่น การประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่เป็นที่ชื่นชอบของสังคม อันก่อให้เกิดความเพลิดเพลินและเป็นสุขใจ
5. ปรัชญาสอนให้เกิดอุดมคติในการดำเนินชีวิตและการปฏิบัติหน้าที่การงาน เช่น สอนให้บุคคลเป็นครูในอุดมคติ หรือเป็นครูที่มีอุดมการณ์ที่จะช่วยพัฒนาชนบทอย่างแท้จริง
6. ปรัชญาสอนให้รู้จักประเมินคุณค่าในพฤติกรรมของบุคคลว่าถูกต้องและเหมาะสมหรือไม่

ดังได้กล่าวแล้วว่า ปรัชญาเป็นแนวอุดมคติในการดำเนินงานใด ๆ โดยใช้ปัญญาเพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่คาดหวังเอาไว้ สำหรับคุณธรรมคุณงามความดีของบุคคลที่กระทำไปด้วยความสำนึกในจิตใจ โดยมีเป้าหมายว่าเป็นการกระทำความดี หรือเป็นพฤติกรรมที่ดีซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม

ดังนั้น คุณธรรมสำหรับครู ก็คือคุณงามความดีของบุคคลที่เป็นครู ซึ่งได้กระทำไปด้วยความสำนึกในจิตใจ โดยมีเป้าหมายว่าเป็นการกระทำความดี หรือเป็นพฤติกรรมทีดีซึ่งเป็นที่ยอมรับของสังคม เช่น ครูที่มีความเสียสละ ครูที่มีน้ำใจงาม ครูที่มีความเกรงใจ ครูที่มีความยุติธรรม ครูที่รักเด็กและรักเพื่อนมนุษย์ ครูที่มีความเห็นอกเห็นใจลูกศิษย์ และครูที่มีมารยาทที่งดงามถือว่าเป็นครูที่มีคุณธรรมทั้งสิ้น

โดยหลักการ ครูจะต้องเป็นทั้งนักปราชญ์ และผู้ทรงศีล เพราะสังคมได้ยกย่องให้ครูเป็นปูชนียบุคคล เป็นผู้ประเสริฐและประสาทความรู้ สร้างความเป็นคนและอบรมสั่งสอนเด็กให้เป็นเด็กที่ดีของสังคม ความจำเป็นที่จะต้องให้ครูเป็นทั้งนักปราชญ์ และผู้ทรงศีลดังกล่าวแล้วชี้ให้เห็นว่า ความเป็นนักปราชญ์ของครูนั้น ครูจะต้องมีความดีและถ่ายทอดดี สอนให้เด็กได้รับความรู้และสนุกมีชีวิตชีวา ส่วนความเป็นผู้ทรงศีลของครู ในฐานะที่ครูเป็นแม่แบบของชาติหรือเป็นต้นแบบในพฤติกรรมทั้งปวง จะช่วยให้ครูเป็นคนดี วางตัวดี เป็นที่เคารพและเป็นที่น่าเชื่อฟังของลูกศิษย์ จึงกล่าวได้ว่า ครูต้องมีคุณธรรม หรือคุณธรรมสำหรับครูเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับครูอย่างยิ่ง ถึงแม้ว่าครูจำเป็นต้องมีคุณธรรม แต่คุณธรรมอย่างเดียวไม่เพียงพอครูต้องเป็นนักปรัชญาด้วย การเป็นนักปราชญ์ของครูจะช่วยให้ครูมีความรู้รอบ และรอบรู้ มีทัศนะกว้างไกลและลึก มองเห็นชีวิตของตนเองทั้งในปัจจุบันและอนาคตอย่างทะลุปุโปร่ง และช่วงมองอนาคตของเด็กให้ทะลุปุโปร่งด้วย เพื่อจะได้ประคับประคองสนับสนุน และส่งเสริมให้เด็กเจริญก้าวหน้าอย่างเต็มที่

จึงสรุปได้ว่าปรัชญาและคุณธรรมสำหรับครูเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้ที่เป็นครูเปรียบเสมือนกับโลหะธาตุที่มีเนื้อธาตุดี ย่อมเป็นโลหะที่ดี เช่นเดียวกันถ้าครูมีปรัชญาและคุณธรรมก็จะได้รับความยกย่องว่า เป็นครูดีของสังคมได้ (สงวน สุทธิ์เลิศอรุณ 2536:20–21)

ความหมายของคุณธรรมและจริยธรรม

คุณธรรมมีผู้ให้ความหมายไว้หลายทัศนะ ดังนี้ แสง จันทร์งาม(2522, หน้า 218) ให้ความหมายคุณธรรม หมายถึง คุณภาพจิตฝ่ายดีที่ควบคุมให้คนมีความประพฤติดี ศักดิ์ชัย นิรัญทวี(2524,หน้า 82) ให้ความหมายคุณธรรม หมายถึง คุณภาพของจิตใจที่เข้าถึงความดีงามขั้นสูง ซึ่งเป็นขั้นที่อยู่เหนือสภาพของสังคม สิ่งแวดล้อมเป็นคุณงามความดีในตัวของมันเอง สาโรช บัวศรี (อ้างถึงใน วาสนา ประวาลพฤกษ์,2535,หน้า2) ให้ความหมาย คุณธรรม หมายถึง ความเชื่อของบุคคลส่วนใหญ่เป็นสิ่งงดงามที่จะส่งผลให้เกิดการกระทำที่เป็นประโยชน์และความดีที่แท้จริงต่อสังคม
 จากความหมายคุณธรรมและจริยธรรมตามทัศนะที่กล่าวมาแล้ว คำว่า คุณธรรม จริยธรรมที่มีความหมายใกล้เคียงกันหรืออาจใช้แทนกันได้ ความหมายโดยรวมของคำทั้งสองนี้ หมายถึง ความประพฤติที่ดีงาม อันมีรากฐานเริ่มต้นจากปรัชญาความคิดที่ถูกต้อง ประกอบกับมีค่านิยมที่ถูกต้อง และเมื่อประพฤติแล้วเป็นเหตุก่อให้เกิดความรู้สึกที่ดีงามทั้งต่อตนเองและต่อผู้อื่น คุณธรรมจริยธรรมเป็นเครื่องควบคุมและกำกับการประพฤติของคนในสังคม ให้มีความรู้สึกนึกคิดและแสดงออกในสิ่งที่ดีงาม ก่อให้เกิดประโยชน์สุขทั้งแก่ตนเอง ผู้อื่น และสังคมส่วนรวม จุดมุ่งหมายสูงสุดของการมีคุณธรรมจริยธรรมในสังคม ให้ทุกชีวิตอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสันติและมีความสุข (เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์,2545,หน้า 62)
ทฤษฎีทางจริยธรรม Thomas (อ้างถึงใน ล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ,2543,หน้า 169-170) ได้กล่าวถึงจริยธรรมว่า เป็นสิ่งที่ไม่ได้ติดมาแต่กำเนิด แต่จริยธรรมเกิดจากสิ่งแวดล้อมสังคมเป็นสำคัญ ทั้งจากครอบครัว เพื่อน โรงเรียน สื่อ ล้วนมีอิทธิพลในการพัฒนา จริยธรรม โดยองค์ประกอบที่มีปฏิสัมพันธ์ของเด็กกับสิ่งแวดล้อมมี 4 อย่าง คือ
1. ความถี่ของประสบการณ์เด็กจากสิ่งแวดล้อม 
2. ชีวิตเด็กในจุดใดที่สิ่งแวดล้อมให้ประสบการณ์
3. ต้นแบบของคนในสังคมที่อาศัยอยู่
4. ผลพวงของการแสดงออกทางจริยธรรมในสังคมนั้น
ล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ (2543, หน้า 170-176) ได้สรุปทฤษฎีพัฒนาจริยธรรม ไว้ 3 ทฤษฎี คือ ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory) ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) ทฤษฎีทางสติปัญญา (Cognitive Theory) ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
 ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory)
องค์ประกอบที่สำคัญในทฤษฎีจิตวิเคราะห์ของฟรอยด์ (Freud) คือ อิด (id) อีโก้ (ego) และซุปเปอร์อีโก้ (superego) id เป็นแหล่งพลังงานทางจิตเบื้องต้น และเป็นที่ตั้งแห่งสัญชาตญาณ เป็นความต้องการแสวงหาเพื่อตนเอง ต่อมาก็มี ego (อีโก้) เป็นผู้ควบคุมพฤติกรรมของ id (อิด) ego อาศัยหลักแห่งความจริงคือ สิ่งที่ปรากฏอย่างแท้จริง จากนั้นจะมีการเรียนรู้พัฒนาขึ้นมา การเรียนรู้ทำให้ฉลาด สามารถเป็นนายเหนือความอยากอันเกิดแก่ id การเรียนรู้อาศัยการรับรู้ ความจำ ความคิด และส่งเสริมให้ ego เข้มแข็ง ซุปเปอร์เป็นลักษณะที่สาม เป็นหลักแห่งอุดมคติและศีลธรรมจรรยา ซุปเปอร์อีโก้แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
1. Ego-ideal คือ อุดมคติ เป็นแนวคิดของผู้ใหญ่ สังคมที่สอนไว้ว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควร และเมื่อประพฤติตามแล้ว จะเป็นที่นิยมชมชอบของผู้ใหญ่ในสังคม
2. Conscience คือมโนธรรม ได้แก่ ความรู้สึกว่า อะไรดีควรทำ อะไรชั่วควรเว้น ในขั้นนี้เด็กจะพัฒนาจากการที่เด็กเคยกระทำผิดอยู่ในใจ เช่น ผู้ใหญ่สอนให้
เกลียดชัง ความสกปรก ถ้าเราไปนิยมก็จะได้รับโทษ เราจึงเว้นเสีย บุคคลในระดับนี้จะเคร่งต่อหลักศีลธรรมเป็นอันมากเป็นส่วนสำคัญที่ป้องกันการกระทำความผิด
 ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory)
ทฤษฎีนี้มีความเชื่อว่ากฎเกณฑ์ของสังคมและวัฒนธรรมเป็นปัจจัยสำคัญให้เกิดการพัฒนาจริยธรรม ทฤษฎีนี้พยายามอธิบายกระบวนการเรียนรู้ โดยหลักการเสริมแรงและหลักการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ปรากฏการณ์ของสังคม
สกินเนอร์ (Skinner อ้างถึงใน ล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ,2543,หน้า 171 ) มีความเชื่อว่าแรงจูงใจที่ทำให้เกิดพัฒนาการทางสังคมมีรากฐานมาจากความต้องการรางวัลและหลีกเลี่ยงการลงโทษจากสังคม การพัฒนาจริยธรรมจึงมีความเกี่ยวพันกับวัฒนธรรมที่สังคมยึดถือ บรรทัดฐานหรือเกณฑ์ปกติของจริยธรรมพื้นฐานเกิดขึ้นภายในจิตใจ
 ทฤษฎีทางสติปัญญา (Cognitive Theory)
ทฤษฎีนี้เชื่อเรื่องกิจกรรมทางสมองของแต่ละบุคคลมีความสำคัญกว่าพฤติกรรมอันเกิดจากอิทธิพลของสังคมภายนอก กิจกรรมทางสมองเป็นกระบวนการทางสติปัญญา ซึ่งรวมทั้งกรรับรู้ ความจำ และการพิจารณาตัดสิน ทฤษฎีทางสติปัญญามีทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของพีอาเจท์ และทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบอร์ก
 ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของพีอาเจท์
Piaget (อ้างถึงในล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ ,2543,หน้า 172-174) เขามีความคิดว่า พัฒนาการทางจริยธรรมขึ้นอยู่กับความฉลาด หรือการพัฒนาทางสติปัญญา พีอาเจท์เสนอแนวคิดการพัฒนาการทางจริยธรรมเป็น 2 ระยะ คือ
1. ระยะเด็กยึดหลักจริยธรรมจากผู้อื่น ระยะนี้เป็นช่วงเด็กมีอายุก่อน 8 ปี โดยประมาณ เด็กชอบแสดงลักษณะเอาตนเป็นศูนย์กลาง เด็กจะยึดกฎเกณฑ์ตายตัวผิดเป็นผิด หรือถ้าผิดต้องได้รับโทษโดยไม่คำนึงถึงสาเหตุอื่น จริยธรรมของเด็กช่วงนี้เป็นการแสดงความเคารพเชื่อฟังพ่อแม่หรือผู้ใหญ่ โดยไม่มีข้อโต้แย้งใดๆ
2. ระยะเด็กยึดหลักจริยธรรมของตนเองเป็นระยะเด็กที่มีอายุ 9 – 12 ปี วัยนี้เด็กมีความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน การตัดสินทางจริยธรรมของเด็กมีความคิดเป็นของตนเองมีความยืดหยุ่น มีเหตุผลที่คำนึงถึงความยุติธรรมและพิจารณาผลกระทำด้วย
 ทฤษฎีพัฒนาการทางจริยธรรมของโคลเบิร์ก
Kohlberg (อ้างถึงในล้วน สายยศ และอังคณา สายยศ,2543,หน้า 174-176) เขาเชื่อว่า การใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมมีความสัมพันธ์กับการบรรลุนิติภาวะเชิงจริยธรรมพร้อมกับการพัฒนาด้านอื่นๆด้วย โคลเบิร์ก ได้จัดลำดับขั้นของการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรมไว้ 6 ขั้น ดังนี้
1. ระดับก่อนจริยธรรม ในระดับนี้บุคคลจะทำความดีหรือความเลวขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของสังคมที่ทำกันมาหรือผู้ใหญ่เป็นผู้กำหนด ในระดับนี้แบ่งย่อยออกเป็น 2 ขั้นคือ
ขั้นที่ 1 เน้นการลงโทษและเชื่อฟัง
ขั้นที่ 2 การเลือกกระทำเพื่อความพอใจของตน
2. ระดับปฏิบัติตามแบบแผนกฎเกณฑ์จริยธรรม ระดับนี้คนจะปฏิบัติตามสิ่งที่คาดหวังไว้ในครอบครัว กลุ่ม หรือประเทศชาติ ในระดับนี้แบ่งย่อยออกเป็น 2 ขั้น คือ
ขั้นที่ 3 หลักจริยธรรมเด็กดีตามที่ผู้อื่นเห็นชอบ